

ตั้งแต่ 1969 - ปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย โดยมีอนุสนธิจากการที่เจษฎาจารย์คณะเซนต์คาเบรียลได้เข้ามาเผยแพร่ธรรมในประเทศไทยเมื่อกว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องศึกษาภาษาต่างประเทศเพราะเล็งเห็นว่าต่อไปสังคมโลกจะมีความใกล้ชิดติดต่อกันมากขึ้นเพราะความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้เริ่มโครงการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เมื่อปี พ.ศ.2512 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ (ACC) และสถาปนาอย่างเป็นทางการใช้ชื่อว่า วิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ หรือ ABAC เมื่อย้ายไปจัดการศึกษาที่ แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิในปี พ.ศ. 2515 โดยจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทุกหลักสูตร จนได้รับการยอมรับว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษานานาชาติแห่งแรกในประเทศไทย
ด้วยปณิธานอันแน่วแน่เพื่อยังประโยชน์แก่ประเทศชาติและสังคม เพื่อให้บรรลุถึงซึ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ จึงได้มีการพัฒนาทุกด้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อบรรยากาศ ในการทำงานและการศึกษา การเรียนการสอน ได้ขยายหลักสูตรเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยได้เปิดดำเนินการสอนในหลักสูตรต่าง ๆ ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในคณะวิชาต่าง ๆ อย่างหลากหลาย จนได้รับอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยให้เปลี่ยนประเภทเป็นมหาวิทยาลัย ใช้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 เพื่อให้พัฒนาการของมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างต่อเนื่องและรองรับการขยายตัวในอนาคต มหาวิทยาลัยได้เปิดดำเนินการ วิทยาเขตแห่งที่ 2 บนพื้นที่กว่า 374 ไร่ บริเวณกิโลเมตรที่ 26 ถนนบางนา-ตราด จังหวัดสมุทรปราการ ใช้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญวิทยาเขตสุวรรณภูมิ” เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2550 โดยมีแนวคิดให้เป็น “มหาวิทยาลัยในวนอุทยาน”
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญมีนโยบายที่จะสนองความต้องการของชาติในการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาวิชาทางธุรกิจวิทยาการจัดการ การวิจัย และการศึกษาเชิงสหวิทยาการ นอกจากนี้ ยังเน้นถึงความเป็นนานาชาติ ด้วยการส่งเสริมให้ตระหนักถึงความแตกต่างกันในด้านวัฒนธรรมและจิตใจ โดยไม่แสวงหาผลทางกำไร (non-profit making) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยมุ่งอบรมและให้การศึกษาเพื่อให้บัณฑิตเป็นผู้ที่มีสมรรถภาพทางปัญญา และมีคุณธรรม มีความประพฤติที่ถูกต้องสอดคล้องกับบรรทัดฐานของสังคม และมีวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างพร้อมที่จะพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไป เป็นผู้ที่มีความสามารถในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ มีเจตคติและอุดมการณ์ที่ถูกต้องรวมถึงการบูรณาการในสารัตถะของจริยธรรม วิทยาศาสตร์ ภาษาและการจัดการทางธุรกิจได้อย่างลึกซึ้ง เป็นผู้ที่มีความเป็นเลิศในทางวิชาการ มีความพากเพียร มีความคิดเชิงวิเคราะห์และสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผู้ที่สามารถประสานวัฒนธรรมและใช้เทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างดี เพื่อให้เกิดสันติภาพขึ้นในโลก หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยได้บุกเบิกพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยเฉพาะด้านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นสถาบันเดียวในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันอินเทอร์เน็ตของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2536
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีหลักสูตร ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่เปิดดำเนินการจัดการเรียนการสอนในคณะวิชาต่าง ๆ จำนวนมากกว่า 100 หลักสูตร มีนักศึกษาต่างชาติมากกว่า 3,000 คน จาก 100 ประเทศ มีผู้สอนและบุคคลากรชาวต่างชาติมากกว่า 250 คน จาก 40 ประเทศ ได้สามารถผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคม ประเทศชาติแล้ว เป็นจำนวนมากกว่า 100,000 คน

สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
อาสนแห่งปัญญา
คริสตศาสนิกชนมีความเชื่อที่ยึดมั่นถือปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายศตวรรษ คือการเคารพบูชาแม่พระ ซึ่งเป็นพระมารดาของพระเยซูเปรียบประดุจ “อาสนแห่งปัญญา ปรีชาญาณและแสงสว่างแห่งปัญญา” (The Seat of Wisdom : Sedes Sapientiae) อันหมายถึงพระเยซูคือปัญญาของความฉลาดสุขุมและแสงสว่างซึ่งประทับนั่งบนบัลลังก์ ดังนั้น แม่พระจึงเป็นแหล่งพำนักแห่งสรรพความรู้และวิทยาการทั้งปวงอันสูงสุด
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเป็นสถาบันการศึกษาเปรียบประดุจเป็นบ้านเกิดและมารดาของเราซึ่งเป็นแหล่งรวมของความรู้นักศึกษาบนตักของมารดาเรียนวิชาความรู้ (Wisdom) จากมารดา และคำว่า “อัสสัมชัญ” (Assumption) นอกจากมีความหมายถึงการถวายเกียรติแด่มารดาของพระคริสต์ในศาสนาคริสต์แล้ว ยังมีอีกความหมายหนึ่ง คือเป็น “สถานที่สถิตมั่นแห่งสรรพความรู้ สติปัญญา ปรีชาญาณและแสงสว่างทั้งปวง” (ฟ.ฮีแลร์ ผู้นิยามและให้ความหมาย)


ต้นอโศก (Ashoka Tree)
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย : ต้นอโศก (Ashoka Tree) คือ ต้นไม้สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า พอลิแอลเธีย ลองจิโฟเลีย (Polyalthea longifolia) มีแหล่งกำเนิดในอินเดียและศรีลังกา เหตุผลที่มหาวิทยาลัยเลือกต้นอโศกเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยเพราะ
1. เป็นต้นไม้ที่เขียวอยู่ตลอดเวลา แสดงถึงความสดชื่นร่มเย็น ความคงเส้นคงวาต่อความเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ หมายความว่า มหาวิทยาลัยจะมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุพันธกิจ ในการให้การศึกษาที่ดีเลิศ โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ
2. เป็นต้นไม้ที่รูปทรงสวยงาม เหมือนสถูปเจดีย์
3. เป็นมงคลนาม หมายถึง ไม่มีความทุกข์ความโศก และยังเป็นชื่อของกษัตริย์อินเดียผู้ยิ่งใหญ่คือ พระเจ้าอโศกมหาราช ที่สร้างอาณาจักรที่เกรียงไกรให้กับอินเดีย และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญสูงสุดในยุคนั้น
4. เป็นต้นไม้ที่นำจากอินเดียสู่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยมูลนิธิภราดาคณะเซนต์คาเบรียล โดยนำมาปลูกพร้อมกันครั้งแรกที่ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และกรมป่าไม้
สัตว์นำโชคมหาวิทยาลัย : ม้า
เพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์แห่งความดีงามที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศด้วย การชนะเลิศรางวัลเหรียญทองกีฬาแข่งม้า Asian Games 1998 และโดยลักษณะนิสัยของม้า เป็นสัตว์ที่มีความปราดเปรียวว่องไว แข็งแรง สมควรที่นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยจะยึดถือและมีพฤติกรรม “เยี่ยงม้า” ดังคำกล่าวที่ว่า “บุรุษอาชาไนย” ซึ่งหมายความว่า “เป็นคนที่ฝึกหัดมาดีแล้ว”

ตรามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ชื่อ “อัสสัมชัญ” เป็นชือที่มีประวัติความเป็นมาและความหมายดังนี้ แรกเริ่มคุณพ่อกอลเบต์ใช้ชื่อภาษาผรั่งเศส “Le Colle’ge de L’ Assomption” และใช้ภาษาไทยว่า “โรงเรียนอาซมซานกอเล็ศ” แต่คนภายนอกทั่ว ๆ ไป มักจะเรียกและเขียนผิด ดังนั้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2453 ภราดาฮีแลร์ จึงได้มีหนังสือไปถึงกรมศึกษา กระทรวงธรรมการ ขอเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “อาศรมชัญ” เพื่อให้เป็นภาษาไทยตามนโยบายของทางราชการ วันที่ 26 กันยายน 2453 พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ อธิบดีกรมศึกษาได้ตอบกลับมาว่าควรเปลี่ยนเป็น “อัสสัมชัญ” เพราะได้เสียงใกล้เคียงของเดิมและความหมายก็คงไว้ตาม “อาศรมชัญ” ดังนั้นชื่อ “อัสสัมชัญ” จึงได้เริ่มใช้ ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2453 เป็นต้นมา ซึ่งคำ ๆ นี้ ให้เสียงเป็นคำไทย และคล้ายกับภาษาอังกฤษว่า “Assumption” ซึ่งทั้งคำแปลก็เหมาะสมที่จะเป็นชื่อของโรงเรียน กุฏิที่ถือศิลเป็นอันมาก เพราะคำว่า “อัสสัมชัญ” เป็นศัพท์บาลีมคธว่า “อัสสโม” แปลงเป็นไทยว่า “อาศรม” หมายถึง “กุฏิที่ถือศิลกินพรต” ส่วนคำว่า “ชัญ” เมื่อแยกตามรากศัพท์เดิมเป็น “ช” แปลว่า เกิด และ “ญ” แปลว่า ญาณ ความรู้ รวมความได้ว่า “ชัญ” คือที่สำหรับเกิดญาณความรู้ เมื่อความสองศัพท์เป็นศัพท์เดียวกันว่า “อัสสัมชัญ” แปลว่า ตำหนักที่สำหรับระงับบาป และที่สำหรับหาวิชาความรู้
Labor Omnia Vincit เป็นคติพจน์ประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งหมายความว่า “อุปสรรคทั้งปวงสามารถเอาชนะได้ด้วยความอุตสาหะวิริยะ (Labour Conquers All Things)

โล่ที่เป็นกรอบล้อมรอบสัญลักษณ์ทั้งสี่ เป็น “COAT OF ARMS” เป็น HONOURS หมายถึง เกียรติประวัติ และคำยกย่องสรรเสริญ ที่สถาบันของเราได้รับมาจากพระเจ้าแผ่นดินผู้ครองอำนาจทั้งในและนอกประเทศ ดอกไม้และกิ่ง LAUREL หมายถึง ชัยชนะ และความสำเร็จ มีที่มาจากนักกีฬาที่มีชัยชนะจากการแข่งขันในสมัยโบราณจะได้รับเกียรติ โดยได้รับพวงมาลัยดอกไม้จากกษัตริย์หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นมาลัยเกียรติยศที่จะเตือนใจให้ทุกคนกระทำความดี เพื่อเชิดชูและจรรโลงไว้ซึ่งเกียรติยศและชื่อเสียงของสถาบันให้มั่นคงมิให้เสื่อมสลายไป
Brothers of St. Gabriel หมายถึง ภราดาคณะเซนต์คาเบรียลที่ยอมสละชีวิตและบ้านเกิดเมืองนอนของตนมาช่วยเผยแพร่ความรู้และความดีงามให้เด็กชาวไทย

A.M. และช่อดอกลิลลี่สีขาว
A.M. ย่อมาจาก ALMA MATER (ภาษาละติน) หมายความว่า สถาบันเปรียบประดุจบ้านเกิด จงรักสถาบันเปรียบประดุจผู้บังเกิดเกล้า นอกจากนี้ A.M. ยังย่อมาจาก AVE MARIA ซึ่งเป็นคำสดุดีของอัครเทวดา คาเบรียลหรือ เซนต์คาเบรียล ต่อพระมารดาของพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นที่เทิดทูนของภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ส่วนช่อดอกลิลลี่ที่ขาวบริสุทธิ์นั้น หมายความว่า เราจะต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งกาย วาจา

เรือใบหรือนาวา
เปรียบเสมือนชีวิตของมนุษย์ที่จะต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ในโลกนี้เหมือนกับนาวาที่ จะต้องฝ่าคลื่นลมมรสุม แดด และฝนในท้องทะเลเพื่อมิให้ล่มจมอยู่กลางทะเลเป็นคติให้คิดเสมอว่า “ชีวิต คือ การต่อสู้

ดวงดาวกับเรือพาย
หมายถึง ความหวังทางด้านจิตใจ ซึ่งศาสนาเป็น “แสงแห่งธรรม” และสรรพวิทยาการที่ได้รับจากสถาบันแห่งนี้เป็น “แสงแห่งปัญญา” รวมกันเป็นดุจดวงประทีปส่องนำทางในชีวิตให้เดินหน้าไปให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายปลายทางของชีวิตได้ด้วยคุณธรรมและปัญญาโดยไม่หลงกลางทะเลของชีวิต รูปคนในเรือพาย ก็คือ ชีวิตของเรานั่นเอง

D หรือ DIVINITY
หมายถึง ศาสนา เราทุกคนต้องมีศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ เครื่องหมายไม้กางเขนเป็นเครื่องหมายแห่งความรัก และความเสียสละ
S หรือ SCIENCE
หมายถึง วิทยาการ ความรู้ที่ทำให้เรามีเหตุผล คนเราทุกคนควรจะมุ่งหาความรู้อยู่เสมอ ยิ่งเรามีความรู้ฝ่ายโลกมากเท่าใด ก็ยิ่งควรสนใจหาความรู้ฝ่ายธรรมให้มากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ D และ S ยังย่อมาจาก DIEU SEUL (ภาษาฝรั่งเศส) ซึ่งหมายความว่า “จงทำงานทุกอย่าง เพื่อสิริรมงคลแด่พระเจ้า” อันเป็นคติพจน์ของนักบุญหลุยส์ มารี เดอ มงฟอร์ต ผู้สถาปนาภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ด้วยคติพจน์อันเป็นพลังใจนี้เองจึงทำให้พวกเราไม่ย่อท้อต่อความเหนื่อยยากไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรียนและการทำงาน ซึ่งเรายึดถือปฏิบัติมาจนกระทั่งทุกวันนี้